3 ก้าว ปูทางเป็นเถ้าแก่ สร้างอาชีพเสริม ...ลาทีชีวิตลูกจ้าง ตอนที่. 1/3


3 ก้าว ปูทางเป็นเถ้าแก่ สร้างอาชีพเสริม ...ลาทีชีวิตลูกจ้าง

          มนุษย์เงินเดือนจำนวนมาก ต้องการหา “อาชีพเสริม” เพื่อเพิ่มรายได้นอกเหนือจากเงินเดือนงานประจำ รวมถึง หวังใช้ต่อยอดจากอาชีพเสริมพัฒนาไปสู่อาชีพหลัก เพื่อก้าวออกจากชีวิตลูกจ้างไปเป็นเถ้าแก่ ทว่า กำแพงสูงที่ขวาง ทำให้ก้าวไม่พ้นเสียที คือคำถามตัวโตๆ ว่า “จะทำอะไรดี?” พ่วงด้วยคำถามอื่นๆ ตามมาสารพัด ทั้งเริ่มต้นอย่างไร? ทำแบบไหน? และทำอย่างไร? ฯลฯ

       ประเด็นดังกล่าว ธนาคารกสิกรไทย โดยโครงการ K-Expert ได้จัดสัมมนา “3 ก้าว ค้นหาอาชีพเสริม สร้างรายได้อย่างมั่นใจ” เพื่อแนะนำแนวทางตั้งต้นทำอาชีพเสริมอย่างเป็นลำดับ เพื่อให้คนมีฝันเริ่มเดินก้าวแรกกันได้จริงๆ เสียที

          ฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล สายงานธุรกิจลูกค้าบุคคลและเครือข่ายบริการ ธนาคารกสิกรไทย วิทยากรในงานสัมมนาดังกล่าว บอกว่า ข้อดีของการมีอาชีพเสริม นอกเหนือจากมีรายได้เสริมแล้ว ที่สำคัญคือ ช่วย “ลดความเสี่ยง” ก่อนจะลงมือทำธุรกิจของตัวเองจริงจังในอนาคต
     
          อย่างกรณีมนุษย์เงินเดือนจำนวนมากที่ฝันอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง หากลาออกจากงานประจำเพื่อมาทำธุรกิจเลยทันที โอกาสจะล้มเหลวสูง เช่นเดียวกับเด็กเรียนจบใหม่ๆ ที่ไม่ต้องการเป็นลูกจ้าง มุ่งมาทำอาชีพส่วนตัวเลย แนวโน้มเจ็บตัวก็สูงเช่นกัน เนื่องจากขาดประสบการณ์ แต่หากได้ลองทำอาชีพเสริมควบคู่กับทำงานประจำไปด้วย จะเป็นเวทีเรียนรู้และสะสมประสบการณ์ เตรียมความพร้อม และในกรณีหากอาชีพเสริมไปไม่รอด ก็ยังมีงานประจำรองรับ
     
          ในขณะเดียวกัน หากทำอาชีพเสริมไปสักพักจนเชื่อว่าตัวเองมีความพร้อมทุกด้านแล้ว เมื่อลาออกจากงานประจำมาทำธุรกิจส่วนตัว สามารถเดินหน้าต่อได้ทันที

หลังจากเกริ่นนำข้อดีของการมีอาชีพแล้ว มาเริ่ม 3 ก้าวที่จะช่วยให้คุณค้นหาอาชีพเสริมกันเลย



ก้าวที่ 1 : ค้นหาอาชีพเสริมที่ใช่จากสิ่งที่ชอบ+ทักษะ

     
       วิทยากรหนุ่ม บรรยายต่อว่า ถ้าคิดทำอาชีพเสริมใดอาชีพหนึ่ง ควรจะเริ่มจากกลับมาสำรวจตัวเองก่อน ประกอบด้วย 1.เรามีความรักความชอบใดเป็นพิเศษ เพราะการทำอาชีพเสริมควรเป็นงานที่ไม่เครียดทำแล้วมีความสุข สามารถทำซ้ำๆ บ่อยๆ ได้โดยไม่เบื่อ โดยให้ลองเขียนรายการที่คุณชอบออกมาเป็นข้อๆ เช่น ชอบกินกาแฟ ชอบสะสมของเก่า ชอบท่องเที่ยว รักสัตว์ ฯลฯ
     
       หรือในกรณีที่ไม่ได้มีสิ่งที่รักหรือชอบอะไรมากเป็นพิเศษ ก็สามารถสร้างจุดเริ่มต้นจาก“แรงบันดาลใจ” โดยที่มาของแรงบันดาลใจอาจจะเกิดจากการมี “ไอดอล” ซึ่งเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิต แล้วที่ตัวเราอยากจะก้าวตาม
     
       นอกจากนั้น อาจสร้างแรงบันดาลใจด้วยการวางเป้าหมายตัวเองในอนาคต เช่น อาจจะจินตนาการตัวเองใน 30 ปีข้างหน้าเป็นเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เพื่อจะไปถึงจุดนั้น ตัวเองต้องเริ่มลงมือทำแล้ว เหล่านี้จะสร้างพลังงานเชิงบวกให้ตัวเอง

       จากนั้นให้สำรวจดูว่า 2.ตัวเรามี “ทักษะ” อะไรเป็นพิเศษบ้าง ซึ่งทักษะที่กล่าวถึงต้องเป็น “พรสวรรค์” หรือ “ความสามารถพิเศษ” ที่เหนือกว่ามาตรฐานคนทั่วๆ ไป ลองนึกดูว่าเรามีทักษะอะไรที่พิเศษกว่าคนอื่นบ้าง เช่น ถ้าคุณบอกว่า มีทักษะร้องเพลง เวลาคุณร้องเพลง ทุกคนที่ได้ยินต้องหยุดฟังหรือเปล่า หรือถ้าบอกว่ามีทักษะทำอาหารอร่อย นอกจากตัวเองที่ชิมแล้วว่าอร่อย คนอื่นๆ ที่ได้ชิมเห็นด้วยหรือไม่ เหล่านี้ นำมาคิดและคัดสรร แต่งเติมให้เกิดเป็นอาชีพเสริมได้
     
       ส่วนคนที่บอกว่า ไม่มีทักษะใดๆ เป็นพิเศษเลย คุณสามารถเพิ่มเติมทักษะให้แก่ตัวเองได้ โดยไปศึกษาเพิ่มเติม ทำจนความสามารถธรรมดาๆ ยกระดับเป็นความสามารถพิเศษขึ้นมาได้ เช่น ไปเรียนภาษาอังกฤษเพิ่ม หรือหมั่นหาความรู้ในเรื่องที่ตัวเองสนใจเพื่อพัฒนาเป็นทักษะ
     
       นอกจากนั้น เรื่องประสบการณ์ที่ผ่านมา เคยทำอะไรซ้ำๆ ฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอจนเกิดความชำนาญเฉพาะทางก็นำมาเป็นทักษะได้เช่นกัน เช่น คนที่เดินทางบ่อยๆ ไปพบเห็นอะไรแปลกใหม่ในต่างแดน ก็อาจเป็นช่องว่างในประเทศที่ยังไม่มีคนทำมาก่อน หรือกรณีคนทำงานอยู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีประสบการณ์ดูทำเลได้เฉียบคม หรือมีข้อมูลเฉพาะทาง ก็ถือว่าเป็นทักษะเฉพาะตัวเช่นกัน
     
       ทั้งนี้ หลังจากที่เราสำรวจตัวเองแล้ว จาก “สิ่งที่ชอบ” กับ “ทักษะ” ลองนำทั้งสองด้านมาบวกกัน จะทำให้เห็นว่า อาชีพเสริมที่ใช้สำหรับคุณ ควรจะทำเป็นอาชีพอะไร ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสิ่งที่คุณชอบ คือ สัตว์เลี้ยง ส่วนทักษะ คือ การถ่ายภาพ อาชีพเสริมของคุณอาจจะรับจ้างภาพสัตว์เลี้ยง หรือสิ่งที่คุณชอบ คือ การท่องเที่ยว ส่วนทักษะ คือ พูดภาษาจีนได้ อาชีพเสริมของคุณ อาจจะไปรับจ้างเป็นไกด์นำเที่ยวของทัวร์ประเทศจีน เป็นต้น



ส่วน "ก้าวที่ 2" นั้นเป็นอย่างไร ติดตามเข้าไปอ่านดูในบทความถัดไปนะครับ



* * * * * *

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น